แบบฝึกหัด 4.7 ข้อ 5-10 ทศนิยมและเศษส่วน ม.1

5. น้ำเมื่อทำเป็นน้ำแข็งจะขยายตัวออกประมาณ \(\mathsf{\frac{1}{10}}\) ของปริมาตร ถ้าน้ำที่นำมาทำน้ำแข็งมีปริมาตร 56.65 ลูกบาศก์เซนติเมตร จะได้น้ำแข็งมีปริมาตรเท่าใด
วิธีทำ
น้ำมีปริมาตร 56.65 ลบ.ซม.
เมื่อนำมาทำเป็นน้ำแข็งจะขยายตัวออก \(\mathsf{\frac{1}{10}}\) ของปริมาตร
นั่นคือน้ำส่วนที่ขยายตัวออกจะมีปริมาตร \(\mathsf{\frac{1}{10}}\) x 56.65 = \(\mathsf{\frac{56.65}{10}}\) = 5.665 ลบ.ซม.
ดังนั้นจะได้น้ำแข็งปริมาตร 56.65 + 5.665 = 62.315 ลบ.ซม.
ตอบ  62.315 ลูกบาศก์เซนติเมตร

 
6. ต้อยมีน้ำหนักตัวเป็น \(\mathsf{1\frac{1}{5}}\) เท่าของน้ำหนักตัวของต๋อง ถ้าต้อยหนัก 61.8 กิโลกรัม จงหาว่าต๋องหนักเท่าไร
วิธีทำ
ต้อยมีน้ำหนักตัวเป็น \(\mathsf{1\frac{1}{5}}\) หรือเท่ากับ \(\mathsf{\frac{6}{5}}\) เท่าของน้ำหนักต๋อง
นั่นคือ น้ำหนักต๋อง x \(\mathsf{\frac{6}{5}}\) = น้ำหนักต้อย
ถ้าต้อยหนัก 61.8 กิโลกรัม
จะได้ว่า น้ำหนักต๋อง x \(\mathsf{\frac{6}{5}}\) = 61.8
นั่นคือ น้ำหนักต๋อง = 61.8 \(\mathsf{\div \frac{6}{5}}\)
= 61.8 x \(\mathsf{\frac{5}{6}}\)
= 10.3 x 5
= 51.5
ดังนั้น ต๋องหนัก 51.5 กก.
ตอบ  51.5 กิโลกรัม

 
7. อั๋นมีช็อกโกแลตกล่องหนึ่ง มีน้ำหนักสุทธิ 600 กรัม อั๋นแบ่งให้น้อง \(\mathsf{\frac{1}{4}}\) ของกล่อง แบ่งให้พี่ \(\mathsf{\frac{1}{3}}\) ของกล่อง ยังเหลือช็อกโกแลตในกล่องอีก 10 ชิ้น จงหาว่า
1) เดิมมีช็อกโกแลตอยู่ในกล่องกี่ชิ้น
วิธีทำ
อั๋นแบ่งช็อกโกแลตให้น้อง \(\mathsf{\frac{1}{4}}\) ของกล่อง
และแบ่งให้พี่ \(\mathsf{\frac{1}{3}}\) ของกล่อง
รวมแบ่งให้พี่และน้องเท่ากับ \(\mathsf{\frac{1}{4} + \frac{1}{3} = \frac{3 + 4}{12} = \frac{7}{12}}\) ของกล่อง
นั่นคือ ถ้ามีช็อกโกแลต 12 ส่วน จะแบ่งให้พี่และน้อง 7 ส่วน
และจะเหลือช็อกโกแลต 12 – 7 = 5 ส่วน
โดยช็อกโกแลตที่เหลือเท่ากับ 10 ชิ้น
จะได้ว่าช็อกโกแลต 1 ส่วน เท่ากับ 10 \(\div\) 5 = 2 ชิ้น
และช็อกโกแลตทั้งหมด 12 ส่วน จะเท่ากับ 12 x 2 = 24 ชิ้น
ดังนั้น เดิมมีช็อกโกแลตอยู่ในกล่อง 24 ชิ้น
ตอบ  24 ชิ้น
 
2) ช็อกโกแลตที่เหลือหนักเท่าไร
วิธีทำ
ช็อกโกแลตเหลือทั้งหมด 10 ชิ้น
เดิมมีช็อกโกแลตอยู่ในกล่อง 24 ชิ้น
ช็อกโกแลตทั้งกล่องมีน้ำหนักสุทธิ 600 กรัม
ช็อกโกแลตที่เหลือหนัก \(\mathsf{\frac{10}{24}}\) x 600 = 250 กรัม
ตอบ  250 กรัม

 
8. ขวดเปล่าใบหนึ่งหนัก \(\mathsf{112\frac{1}{2}}\) กรัม เภสัชกรบรรจุยา 30 เม็ด ลงในขวดใบนี้ได้เต็มขวดพอดี เมื่อนำขวดยาไปชั่งได้หนัก 131 กรัม จงหาว่ายา 1 เม็ด หนักประมาณกี่มิลลิกรัม (ตอบเป็นทศนิยมสองตำแหน่ง)
วิธีทำ
ขวดยาที่บรรจุยา 30 เม็ดหนัก 131 กรัม
ขวดเปล่าหนัก \(\mathsf{112\frac{1}{2}}\) = \(\mathsf{\frac{225}{2}}\) = 112.5 กรัม
จะได้ว่ายา 30 เม็ดหนัก 131 – 112.5 = 18.5 กรัม
และยา 1 เม็ดหนักเท่ากับ \(\mathsf{\frac{18.5}{30}}\) = 0.61667 กรัม
เนื่องจาก 1 กรัม เท่ากับ 1,000 มิลลิกรัม
ดังนั้น ยา 1 เม็ดหนัก 0.61667 x 1,000 = 616.67 มิลลิกรัม
ตอบ  616.67 มิลลิกรัม

 
9. บริษัทแห่งหนึ่งมีผลกำไรเมื่อสิ้นปี 4.2 ล้านบาท จัดเก็บไว้เป็นเงินสำรอง \(\mathsf{\frac{2}{5}}\) เท่าของผลกำไร บริจาคเพื่อสาธารณกุศล \(\mathsf{\frac{1}{20}}\) เท่าของผลกำไรที่เหลือ เหลือจากนั้นจึงแบ่งให้หุ้นส่วน 8 คน คนละเท่าๆ กัน จงหาว่าหุ้นส่วนแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งคนละเท่าไร
วิธีทำ
บริษัทมีผลกำไร 4.2 ล้านบาท = 4,200,000 บาท
เก็บเป็นเงินสำรอง \(\mathsf{\frac{2}{5}}\) เท่าของกำไร เท่ากับ \(\mathsf{\frac{2}{5}}\) x 4,200,000 = 1,680,000 บ.
จะเหลือเงิน 4,200,000 – 1,680,000 = 2,520,000 บ.
บริจาคเพื่อสาธารณกุศล \(\mathsf{\frac{1}{20}}\) เท่าของผลกำไรที่เหลือ
นั่นคือ บริจาคเท่ากับ \(\mathsf{\frac{1}{20}}\) x 2,520,000 = 126,000 บ.
จะเหลือเงินหลังบริจาคเท่ากับ 2,520,000 – 126,000 = 2,394,000 บ.
แบ่งเงินที่เหลือให้หุ้นส่วน 8 คน คนละเท่าๆ กัน
หุ้นส่วนแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งคนละ 2,394,000 \(\div\) 8 = 299,250 บ.
ตอบ  299,250 บาท

 
10. ทองคำมีความหนาแน่น \(\mathsf{19\frac{1}{3}}\) กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ถ้าทองคำแท่งหนึ่งมีปริมาตร 16.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร จะมีมวลกี่กรัม (มวลของทองคำ = ความหนาแน่นของทองคำ x ปริมาตรของทองคำ)
วิธีทำ
มวลของทองคำ = \(\mathsf{19\frac{1}{3}}\) x 16.5
 
= \(\mathsf{\frac{58}{3}}\) x 16.5
 
= 319
ดังนั้น ทองคำแท่งจะมีมวล 319 กรัม
ตอบ  319 กรัม